By : Teeradetch Niruttiwat
“คุณวรณ์ ดอนชัย” WORN Eco Creations กับแนวคิดการพัฒนาอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านเกิด ด้วยการย้อมผ้าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมผสมกับเทคโนโลยีในยุคสมัยใหม่
อะไรคือจุดเริ่มต้น และเป้าหมายของพี่วรณ์?
เป้าหมายส่วนตัวคือ อยากเอาความรู้ของตัวเองมาสร้างคุณค่าให้กับบ้านเกิดเรา แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ด้วยความที่เราเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ จบมาทำงานที่สถาบันวิจัย พอผ่านไปสักระยะหนึ่งก็ได้มาเรียนรู้กระบวนการผลิตของชาวบ้าน พอเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มันสามารถทำให้กระบวนการผลิตดีขึ้น คุณภาพการผลิตของผลิตภัณท์ก็ดีขึ้นตาม เกิดมูลค่าที่มากขึ้น ทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าน่าจะมาถูกทางแล้ว
เส้นทางหลังจากที่เรียนจบเป็นอย่างไร ?
ช่วงก่อนเรียนจบ เคยเป็นผู้ช่วยวิจัยเกี่ยวกับสีย้อมธรรมชาติอยู่ 1 ปี ทำให้เรารู้สึกชอบเรื่องสีย้อม จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโททางเคมี ระหว่างนั้นก็ทำงานกับสถาบันวิจัยไปด้วย ทำหน้าที่ฝึกอบรบสอนชาวบ้านเรื่องเทคนิคการย้อมสี มันก็ยิ่งชัดเจนว่าถึงเราจะจบทางเคมี ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปทำงานโรงงานเสมอไป เราสามารถเอาความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยนช์ได้ ก็เลยมุ่งที่จะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสีย้อมธรรมชาติ ทำให้เราตัดสินใจทำงานที่สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาหลายปี
แต่ด้วยความที่เราอยากจะกลับไปอยู่ที่บ้าน เลยตัดสินใจกลับมา จึงได้ริเริ่มเรื่องของการพัฒนาอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน ทำให้ได้รู้ปัญหาที่แท้จริงของชุมชนก็คือความยากจน ถ้าหากเขามีรายได้ดีก็จะสามารถเลี้ยงชีพได้ สามารถช่วยเหลือลูกหลานให้มีการศึกษาที่ดีได้ และเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปหาอาชีพอื่นหรือว่าตกเป็นเครื่องมือของการค้ามนุษย์ ถ้าแก้ปัญหาความยากจนได้ทุกอย่างก็จบ
สีย้อมธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์
ในปัจจุบันถ้าเป็นวิธีดั้งเดิมคือใช้ใบไม้หรือเปลือกไม้มาย้อม แต่จะมีส่วนที่เรานำวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วย อย่างเช่น วิธีการต้มสีต้องคัดเลือกวัตถุดิบแบบไหนที่จะได้คุณภาพของสีย้อมที่ดีที่สุด มันเหมือนกับว่านำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปพิสูจน์ทุกขั้นตอน และมันสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าอัตราส่วนไหน อุณหภูมิไหน วิธีการไหนที่ทำให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุด แล้วเราก็จะได้ผลลัพธ์ว่ากระบวนการผลิตแบบไหนต้องทำอย่างไรบ้างเราถึงจะได้ของที่มีคุณภาพ หลังจากนั้นค่อยไปสอนชาวบ้านและผู้ประกอบการ ว่าต้องทำยังไงให้มีคุณภาพ ชาวบ้านที่เรียนจากเราก็นำไปปรับใช้ได้จริงๆ
ผลิตภัณท์ที่ทำสีย้อมได้จากพืช
สีน้ำเงินจากคราม สีจากเปลือกไม้ ใบไม้ทั่วไป ต้นมะม่วงหูกวาง ยังมีพืชในธรรมชาติอีกเยอะมากที่ทำให้เกิดสีย้อมได้ แต่ด้วยความรู้ที่เรามี ทำให้รู้ว่าพืชอะไรนำมาใช้ได้และใช้ไม่ได้ สีเคมีกับสีธรรมชาติมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือสารสี ต่างกันที่ตัวหนึ่งมาจากการสังเคราะห์ อีกตัวหนึ่งมาจากธรรมาชาติ ส่วนใหญ่ที่จะเป็นปัญหาคือ สีสังเคราะห์จะมีผลต่อสุขภาพ หลายตัวมีองค์ประกอบทางเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนั้นยังมีผลต่อคนผลิตและคนที่นำไปใช้งานด้วย
นอกจากนั้นในกระบวนการย้อมจะมีของเสียที่เกิดจากการย้อมที่กลายเป็นน้ำทิ้ง ซึ่งถ้าทิ้งไม่ถูกวิธีก็จะกลายเป็นของเสียต่อสิ่งแวดล้อม แต่สีจากธรรมชาติมันสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นผลกระทบที่มีต่อคนและสิ่งแวดล้อมก็จะน้อยกว่า
ปัจจุบันที่เราทำงานด้วยมีอยู่ 3 หมู่บ้าน แต่ก็มีเครือข่ายที่ทำงานอื่นๆด้วย เช่น เราซื้อวัตถุดิบมาจากหมู่บ้านหนึ่ง ครามเราก็ซื้อมาจากผู้ผลิตที่อ.ฝาง เส้นใยที่เป็นเส้นใยฝ้ายปั่นมือเราก็ซื้อมาจากผู้ผลิตในพะเยา เส้นไหมเราซื้อมาจากผู้ผลิตจากเชียงใหม่หรือลำปาง ด้วยความที่เราทำงานมานานเราก็จะคัดวัตถุดิบจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ผลิตแบบ hand made และเป็นสีธรรมชาติจริงๆ
เป้าหมายที่ทำ คือ อยากพัฒนาผู้ผลิตในเชียงรายในทุกขั้นตอนการผลิต ให้สามารถพิสูจน์ได้ว่ามาจากคนในพื้นที่ไหน เชื่อถือได้หรือไม่ เพราะเราอยากให้มีผู้ผลิตในเชียงรายมากที่สุด และเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน
อย่างแม่ๆหมู่บ้านปางลาวทำงานร่วมกับเรามาหลายปี เขามีความสุขในการทอผ้าและชอบการทำงานร่วมกับเรา จากเดิมที่ไม่ค่อยได้ทอผ้า ในปัจจุบันเขาทอผ้าจนเกิดรายได้ที่มันต่อเนื่อง ถ้าเราป้อนงานให้เขาเรื่อยๆ เขาก็ได้ดูแลบ้าน และมีรายได้จากการทอผ้าด้วย ในหนึ่งเดือนถ้าพวกเขามีรายได้ 3,000-4,000 บาท เขาก็มีความสุข
อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราค่อนข้างมีความสุขกับการทำงานร่วมกับชาวบ้าน คือพอเราให้ความรู้หรือเทคนิคใหม่ๆ เขาก็จำแล้วนำไปใช้ต่อได้ ทำให้เขาสร้างงานใหม่ๆให้เราได้ เหมือนว่าเราแค่ไปเติมสิ่งที่ขาด ส่วนที่เหลือเขาก็สามารถดีไซน์สีสันลวดลายเอง เขาก็มีความสุขกับการทำงานที่เขาชอบ จนตอนนี้ก็ทำงานร่วมกันมา 4-5ปีแล้ว มันมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับเขาเกิดขึ้น มันไม่ได้เป็นเหมือนการจ้างงาน แต่เหมือนเป็นเพื่อนกัน
พอเราสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้กับลูกค้า เขาก็ได้รู้เรื่องราวและพอใจ แม้ว่าราคาที่เราผลิตอาจจะสูงกว่าที่อื่นแต่ว่าด้วยคุณภาพของงานที่แม่ๆทอมา ทำให้เขายินดีที่จะจ่าย แล้วมันก็พิสูจน์ได้ว่ากระบวนการทำงานของเรามันสร้างงานได้ ผู้ผลิตกับลูกค้าของเราก็แฮปปี้ แล้วพอลูกค้ามีผลิตภัณท์ที่เขาอยากได้ เขาก็บอกเรา พอเราไปคุยกับคนผลิต ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียกันแล้วก็ทดลองทำผลิตภัณท์ขึ้นมา ราคาที่เราให้ในการทอ เป็นราคาที่ทุกฝ่ายโอเคไม่มีปัญหา เหมือนกับที่เขาตกลงกันว่าเขาจะทอแบบนี้ ราคากี่บาทต่อชิ้น ซึ่งเขาตกลงราคาและควบคุมคุณภาพให้เราด้วย ซึ่งการทำงานแบบนี้มันทำให้เรามีความสุข และตอบโจทย์ตามที่ตั้งเป้าชีวิตไว้แล้ว
ติดตามเรื่องราวของคุณวรณ์ได้ที่เพจ : WORN Eco Creations