January 13, 2023

“สะบัดชัย” งานคราฟท์เครื่องเงินร่วมสมัย จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก

คุณบอล – ธนกิต  พรหมอยู่ แห่งร้านเครื่องเงิน “สะบัดชัย คราฟท์ & อาร์ทจิวเวอรี่” เรียนจบ Jewery desgin  ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นเจ้าของธุรกิจร้านเครื่องเงินสะบัดชัย รุ่นที่ 2 ซึ่งทำเครื่องเงินมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ตั้งแต่ปี 2537 จริงๆต้องบอกว่าคุณบอลเริ่มสนใจมาตั้งแต่เด็กๆจากการที่ได้เห็นคุณพ่อกับคุณแม่ทำเครื่องเงินมาเกือบ 30 ปี

คุณพ่อเป็นคนตั้งชื่อ “สะบัดชัย” ได้มาจากคุณลุง ซึ่งฝึกเด็กทำการแสดงกลองสะบัดชัย เป็นศิลปะการแสดงของชาวล้านนามาตั้งแต่สมัยอดีตกาล ชาวล้านนาจะทำการตีกลองสะบัดชัยในยามที่เตรียมจะออกไปทำศึกสงคราม เสียงกลองและเสียงเครื่องโลหะร้อยเรียงกันเป็นจังหวะที่ปลุกเร้าและสร้างสมาธิ ให้แก่ทหาร อีกทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวล้านนาที่อยู่ปกปักรักษาบ้านเมืองของตน ศิลปะการแสดงตีกลองสะบัดชัยนั้นถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน

การตีกลองสะบัดชัยแฝงนัยยะของการก้าวไปแสวงหาสิ่งต่างๆด้วยความสันติ

การทำเครื่องประดับนั้นเริ่มมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของมนุษย์โลกตั้งแต่สมัยโบราณกาล มนุษย์เราเริ่มทำเครื่องประดับพร้อมกับเครื่องนุ่งห่ม ดอกไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ ขนนก ชิ้นส่วนของสัตว์ อีกทั้งกระดูกและฟันของมนุษย์ด้วยกันเอง สิ่งของจากธรรมชาติเหล่านี้เพียงชิ้นเดียวก็สามารถนำมาทำเป็นเครื่องประดับได้ ซึ่งเครื่องประดับยังทำหน้าที่ระบุตัวตนของบุคคลคนหนึ่ง ครอบครัว และชุมชนได้

เครื่องประดับถูกพัฒนาเรื่อยมา จนถึงยุคของการค้นพบโลหะชนิดต่างๆ การแปรธาตุให้เหมาะสมต่อการสร้างสรรค์งาน และคิดค้นนำโลหะมาใช้ประโยชน์ในการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ การมาถึงของเหล็กนี้ช่วยปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมโลกได้ หินและอัญมณีที่ต่างหมักบ่มมาตลอดหลายล้านปีอยู่บนโลกนี้ จนมนุษย์ได้มาค้นพบ และนำมาประดิษฐ์ตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านเรือน จนถึงชิ้นเล็กสุดที่อยู่กับตัวเราอย่างเครื่องประดับ อดไม่ได้ที่มนุษย์จะต่อยอดความงามจากฝีมือของธรรมชาติ และซึมซับเอาพลังที่อยู่ในหินและอัญมณีมาไว้กับตัวได้ วัตถุดิบจากธรรมชาติที่น่าหลงไหลเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเครื่องประดับ

ทำไมถึงสนใจการทำเครื่องเงินทั้งๆที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ สำหรับพี่บอลเครื่องเงินที่เราทำมันมีเสน่ห์ยังไงบ้าง?

จริงๆคนรุ่นใหม่ก็สนใจในเรื่องพวกนี้เยอะอยู่ ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเครื่องประดับในบริบทต่างๆ ถ้าเรามองในด้านงานฝีมือ งานช่าง งานศิลปะหลากหลายมุมมอง แล้วแต่เฉพาะบุคคล

“เครื่องประดับยังคงเชื่อมโยงกับตนเองและผู้อื่นได้เสมอ ไม่ว่าโลกนี้จะวิวัฒนาการไปเพียงใด”

ผมอยากให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจ และเรียนรู้งานช่างเพิ่มมากขึ้นด้วย และอีกอย่างมันเป็น อาชีพของเรา ในยุคนี้ดีตรงที่ว่าคนที่สนใจเรื่องไหน ก็สามารถมุ่งเข้าไปเรียนได้โดยตรง

“งานเครื่องเงินมันมีเสน่ห์ ตั้งแต่เราเริ่มสร้างชิ้นงานขึ้นมา ตั้งแต่เราคิด ออกแบบ แล้วก็ผลิตขึ้นมา”

สำหรับช่างเงิน หรือคนที่ทำมันอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิตจนจบ งานเสร็จ ออกไปวางขายแล้วลูกค้าซื้อไป อยู่ที่ลูกค้าแล้วว่าจะชอบรูปแบบหรือดีไซน์ไหน

พอได้ทำก็ทำมาเรื่อยๆ การทำเครื่องเงิน เทคนิคมันค่อนข้างเยอะ ที่เกี่ยวกับจิวเวอร์รี่ มีรายละเอียด หลายๆอย่างที่เรายังเรียนรู้ได้ไม่หมด ยังมีเทคนิคอะไรอีกหลายอย่างที่เราไม่เคยได้ลองทำจากที่เรียนมา พูดง่ายๆคือยังลองทำไม่หมด ซึ่งเราสามารถที่จะนำไปดัดแปลง ปรับใช้ ออกแบบ หรือต่อยอดทำไปถึงผลิตภัณท์อื่นๆได้

งานของเราก็จะเน้นเครื่องประดับที่ทำมาจากโลหะและไม้ ซึ่งแต่ละชิ้นงานก็มีคุณค่าในตัวของมันเอง เราสามารถนำสิ่งเหล่านี้ มาสร้างงาน สร้างรายได้ อย่างไม้ก็มีหลากหลายชนิด ช่างก็จะเลือกนำมาทำชิ้นงาน อะไรที่ต่างกัน รวมถึงดีไซน์ที่รวมอยู่ในนั้นด้วย ความตั้งใจของเราก็ต้องต่อยอดพัฒนาเรื่อยๆ ไปจนถึงที่สุด

“คำว่าที่สุดของเรา” คือ “ที่สุดของงานด้วย”

ขั้นตอนการทำเครื่องเงินหนึ่งชิ้นใช้เวลาในการทำนานไหม?

ในการทำเครื่องเงินสิ่งแรกก็คือจะมีการ ดีไซน์ ออกแบบลายก่อน แล้วจึงนำลาย Sketch มาประดับในชิ้นงานไม้ หรือเครื่องเงินเพื่อทำต้นแบบ ระยะเวลาการทำจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เครื่องเงินเป็นงานหัตถศิลป์ เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความปรานีต สามารถทำได้วันละไม่กี่ชิ้น

บางชิ้นงานเราสามารถใช้แบบพิมพ์สำหรับหล่อได้ เพื่อลดเวลาในการทำ รูปแบบแม่พิมพ์เครื่องเงินทำมาจากเทียน ซึ่งเป็นต้นแบบสำหรับทำต้นแบบชิ้นงานในการเตรียมเบ้าหล่อ เมื่อเราทำชิ้นแรก เราก็จะทำต้นแบบไว้เพื่อสำหรับทำครั้งต่อไปแบบหลายๆชิ้น คล้ายกับบล็อกแม่พิมพ์

ซึ่งขั้นตอนถัดมาเราจะฉีดเทียนเพื่อทำแม่พิมพ์แบบจากเทียน จากนั้นก็จะนำแม่แบบเทียนที่ได้ไปทำเบ้าหล่อแม่แบบซึ่งทำมาจากปูน หลังจากเทปูนหล่อแม่แบบบนชิ้นงานเทียน แล้วจึงนำไปอบ เมื่อปูนร้อนได้ที่จนแห้ง แม่แบบเทียนที่อยู่ข้างในก็จะละลายออก เราก็จะได้เบ้าหล่อแม่พิมพ์แบบที่เป็นปูน ซึ่งจะนำไปใช้สำหรับหล่อโลหะเงินเข้าไปด้วยเครื่องหล่อระบบเหวี่ยง เครื่องนี้จะเหวี่ยงเนื้อโลหะ เงินหรือทอง ที่ทำการหลอมแล้วเข้าไปในช่องเบ้าหลอม เพื่อให้ออกมาเป็นชิ้นงานเครื่องเงินหรือทอง ชิ้นงานที่หล่อเสร็จ ก็สามารถนำมาประกอบกับ หิน เพชร เงิน ทอง หรือไม้ ก็ได้ แล้วแต่เราดีไซน์ชิ้นงาน

สินค้าของเราจะมีการตอกเครื่องหมายโลโก้ร้าน Sabud chai และเครื่องหมาย เงินแท้ 92.5% ทุกชิ้น เพื่อบ่งบอกที่มาของคุณภาพชิ้นงาน

ส่วนมากงานที่มีคนสนใจเยอะจะเป็นแบบไหนบ้าง?

ลูกค้าส่วนใหญ่ก็สนใจทุกแบบ เรียกว่าแต่ละคนก็มีสไตล์ไม่เหมือนกัน ชอบไม่เหมือนกัน แต่สำหรับผมชอบงานเงินล้วน สร้อยแขน สร้อยคอล้วน อย่างเครื่องประดับของผู้ชายก็มีไม่เกิน 2 ชิ้น เทคนิคที่คุณพ่อสอนสืบทอดมาก็จะเป็นการฝังพลอย เจียรพลอย เป็นงานแบบดั้งเดิม เทคนิคแบบคนโบราณทำ

งานของเราส่วนมากเราจะเน้นไปทางเครื่องประดับ ขายดีไซน์ แหวนเงิน สร้อยคอ จี้ กำไล กรอบหรียญ กรอบพระเครื่อง สำหรับเครื่องเงินเรามีเกือบทุกอย่าง

เครื่องเงินกับไม้ เช่น กำไลไม้ และพวกของโบราณอย่างไม้เท้า ไม้ตะพด มีลูกค้ามาขอให้ออกแบบทำให้ เพราะลูกค้าอยากได้แต่เราก็ไม่ได้รับ Order บางอย่างเราก็ใส่ function พิเศษเข้าไป เช่น ของสำหรับไว้เดินป่า ใส่เข็มทิศหรือนาฬิกาเข้าไปได้ และสามารถถอดเก็บแบ่งครึ่งใส่ถุงได้ ก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ

อีกแบบคืองานเรซิ่น ซึ่งหล่อกับเนื้อไม้ เมื่อเรซิ่นแห้งก็นำมาตัด แล้วนำมาขัดให้ได้ชิ้นงาน รวมไปถึงหินชนิดต่างๆ ซึ่งมีคุณสมบัติพลังของหินต่างกัน คนส่วนมากเวลาเลือกเครื่องประดับเขาจะดูเรื่องชนิดของหิน คุณสมบัติพลังว่าตรงกับราศีตรงกับวันเกิด อย่างต่างหูก็ทำมาจากหินร้อยกับลวดเงิน หินที่นำมาใช้งานคือ ลาพิส (Lapis) สีออกไปทางน้ำเงินอมม่วงซึ่งเป็นหินแห่งภูมิปัญญาและความจริง รวมไปถึงมุก อเมทิสต์ (Amethyst) ซึ่งทำให้จิตใจสงบสุข หลับสนิทตลอดคืน โชคลาภมาสู่ผู้ครอบครองและผู้สวมใส่ ทำให้เกิดความมุ่งมั่น ป้องกันเวทมนตร์ด้านมืด ฯลฯ 

นอกจากนี้ที่สะบัดชัยยังส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องเครื่องเงิน มี workshop สำหรับผู้ที่สนใจ และอยากเรียนรู้การทำเครื่องประดับ สำหรับผู้สนใจลองทำแถมยังได้ชิ้นงานกลับไปใส่เองด้วย ถ้าสนใจสามารถติดต่อได้ที่เพจ Sabudchai

SHARE ARTICLE:
Share on email
Share on linkedin
Share on facebook
Share on twitter

Read related:

Apr 5, 2023
“ผมอยากแบ่งปันความสุขในการกินกาแฟให้กับคนอื่น” คุณเจมส์ James Art Coffee บอกกับเรา ก่อนจะเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาเปิดร้านกาแฟ ย้อนกลับไปประมาณ 8 ปีที่แล้ว...
Mar 22, 2023
TonCedar Internship program เน้นการฝึกงานและเรียนรู้แบบองค์รวม ด้วยการทำงานในสภาพแวดล้อมวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้ฝึกภาษากับชาวต่างชาติ และทำงานร่วมกับเจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการธุรกิจ และองค์กรต่างๆ ในการช่วยเหลือคนรุ่นใหม่...
Mar 8, 2023
วันนี้ TonCedar จะพาทุกคนมารู้จักกับ Magpie Farm เกษตรกรรมบนดอยที่เริ่มต้นมาจาก คุณซาน – สุนทร มิ่งสิริเจริญ...